
งานแสดงและขายสินค้าไอที หรือเทรดโชว์ ดูเหมือนจะเป็นทางออกสุดท้าย เป็นความหวังเดียวของบรรดาเหล่าผู้ค้า ผู้ผลิตผลิตสินค้าไอที เนื่องจากงานเทรดโชว์สินค้าไอทีแต่ละปีนั้น มีงานใหญ่ๆในกรุงเทพฯ ที่มีศักยภาพดึงผู้คนมาเดินชมงานได้เรือนหมื่นเรือนแสนคน อาทิ งานคอมมาร์ต , คอมเวริลด์ และไอซีทีเอ็กซ์โป เป็นต้น
เวทีเหล่านั้นถือเป็นนาทีทองของบรรดาเหล่าผู้ค้าและผู้ผลิตสินค้าไอที ในการเข้ามาจัดโปรโมชั่น ลดแหลกแจก แถมเพื่อปลุกกระแสกำลังซื้อ ยอดขายที่ชะลอตัวให้มีความคึกคักเกิดขึ้นตลอดทั้งปี
ถกล นิยมไทย ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจเทคโนโลยี บริษัทโตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด กล่าวกับฐานเศรษฐกิจว่าช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาตลาดค่อนข้างชะลอตัวลงไป ส่วนหนึ่งเป็นความไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจและการเมืองของกลุ่มผู้บริโภค และอาจเป็นไปได้ว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยน ไป โดยหลังๆ จะพบว่าก่อนงานเทรดโชว์สินค้าไอที 1-2 เดือน การซื้อขายหน้าร้านตามศูนย์ไอทีจะลดลงไป
งานเทรดโชว์สินค้าไอทีนั้นส่งผลทั้งในแง่บวกและลบ โดยในแง่บวกนั้นงานพวกนี้ช่วยกระตุ้นการซื้อขายผู้บริโภคระดับแมสได้ ส่วนข้อเสียก็คืออาจทำให้การขายหน้าร้านปกติชะลอตัวลงไป โดยหน้าร้านส่วนใหญ่ไม่ชอบ เพราะคนไม่ไปดูหรือซื้อของที่หน้าร้าน ทั้งที่พวกนี้เขาลงทุนตั้งหน้าร้านให้คนมาซื้อสินค้า
เขายังกล่าวด้วยว่า โตชิบานั้นช่วงหลังๆ ให้ความสำคัญกับงานเทรดโชว์มากขึ้น โดยเฉพาะงานคอมมาร์ตที่ปีหนึ่งมี 3 ครั้งนั้น สร้างยอดขายประมาณ 30% ของยอดขายรวม หากนับรวมงานคอมเวริลด์ ไอซีทีเอ็กซ์โป รวมทั้งงานเทรดโชว์ตามหัวเมืองใหญ่ที่มีรวมกันประมาณ 20 งานเข้าไปด้วยนั้นสัดส่วนรายยอดขายจะเพิ่มขึ้นเป็น 50-60%เลยทีเดียว
ดังนั้นปีนี้งบการตลาด 60-70% ของบริษัทจะใส่ลงไปที่กิจกรรมส่งเสริมการขาย ณ.จุดขาย (Below the line) ทั้งงานเทรดโชว์ และกิจกรรมหน้าร้าน เนื่องจากเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคโดยตรง อีกทั้งผู้บริโภคยังสามารถจับต้องสินค้าได้จริง ขณะที่การโฆษณาสร้างภาพลักษณ์สินค้าตามสื่อต่างๆจะลดลงไป โดยเหลือเพียงการโฆษณางานเทรคโชว์ หรือโปรโมชั่นส่งเสริมการขายเท่านั้น
ถกล ยังยอมรับว่าการเข้าร่วมงานเทรดโชว์นั้นส่วนใหญ่จะเจ็บตัว เพราะการห้ำหั่นราคาระหว่างผู้ผลิตนั้นเป็นเรื่องที่ควบคุมอยาก การที่เจ้าใดเจ้าหนึ่งลดราคาลงมานั้นก็บังคับให้รายอื่นทำราคาลงมาแข่งขัน ซึ่งยอดขายในงานเทรดโชว์ไม่มีกำไร แต่เอางบประมาณด้านมาเก็ตติ้งเข้ามาช่วยสนับสนุน งานนี้วัดกันที่สายป่านใครยาวกกว่ากัน
เช่นเดียวกับนิธิพัทธ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดอาวุโส บริษัทเอเซอร์คอมพิวเตอร์จำกัด กล่าวว่า 1-2 เดือนที่ผ่านมาผู้ค้าทุกรายประสบปัญหาขายของไม่ได้ ซึ่งนั่นไม่ใช่เป็นเพราะเศรษฐกิจไม่ดี แต่ผู้บริโภค รอซื้อสินค้าภายในงานเทรดโชว์มากกว่า เนื่องจากกลุ่มผู้บริโภคที่มีความต้องการซื้อสินค้าไอทีนั้นมีการเข้าถึงข้อมูลรวดเร็ว
การจัดงานไอที เทรดโชว์ คล้ายกับดาบ 2 คน เหมือนกัน เพราะถ้าผู้จัดรายใดโปรโมตดีผู้บริโภคก็จะรอซื้อในงานมากกว่าซื้อที่หน้าร้าน ซึ่งช่วงหลังๆ ยอดขายในงานเทรดโชว์มีการเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นดับเบิล ขณะที่ยอดขายหน้าร้านก็ยังเติบโตอยู่แต่เติบโตในอัตราส่วนลดลง
อย่างไรก็ตามยอดขายหลักของบริษัทยังมาจากหน้าร้านที่มีอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งในช่วงที่มีงานเทรดโชว์ใหญ่ๆ ก็พยายามดึงดีลเลอร์รายใหญ่ๆ เข้ามาร่วมภายในงาน ขณะเดียวกันก็จะแคมเปญให้กับหน้าร้านรายย่อยทั่วประเทศควบคู่กันไป เพื่อช่วยส่งเสริมการขายให้กับหน้าร้าน นอกจากนี้ยังพยายามเข้าร่วมงานเทรดโขว์ทุกงานที่มีการจัดขึ้นทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด โดยแต่ละปีมีงานคอมมาร์ต 3 ครั้ง, คอมเวิรล์ด 2 ครั้ง และไอซีทีเอ็กซ์โป 1 ครั้ง นอกจากนี้ยังมีงานเทรดโชว์ในต่างจังหวัดประมาณ 20-30 งาน
เขายังกล่าวต่อไปว่ากลยุทธ์ของเอเซอร์ครึ่งปีแรกนั้นจะเน้นการจัดกิจกรรมโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย และการเข้าร่วมงานแสดง เพื่อรอดูสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ จากนั้นครึ่งปีหลังจากพิจารณาอีกครั้งหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องการสร้างแบนด์
ขณะที่ ธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัทเลอโนโว (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่างานเทรดโชว์ ช่วยสร้างดีมานด์ และกระแสในตลาดขึ้นมา ขณะเดียวกันยังเป็นตัวช่วยสร้างภาพลักษณ์ตัวสินค้าไปสู่สายตาผู้บริโภค ซึ่งที่ผ่านมาเลอโนโว มียอดขายในการประเภทนี้มากขึ้น และยังมีนโยบายเข้าร่วมงานเทรดโชว์ทุกงานทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ที่แต่ละปีมีงานเทรดโชว์รวมกัน 20 กว่างาน อย่างไรก็ตามการขายสินค้าส่วนใหญ่นั้นยังมุ่งขายผ่านหน้าร้าน ซึ่งจะมีการจัดแคมเปญกระตุ้นการขายควบคู่กันไป
งานเทรดโชว์มีผลทำให้ยอดขายหน้าร้านลดลงไป แต่เราก็พยายามดึงร้านค้าเข้ามาร่วมขายภายในงาน และหากแคมเปญในงานได้รับการตอบรับ ก็จะจัดต่อเนื่องให้กับร้านค้า ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 40 แห่ง ทั่วประเทศ
ส่วน ปวิณ วรพฤกษ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด กลุ่มผลิตภัณฑ์เพอร์ซันนอล ซิสเต็มส์ บริษัทฮิวเล็ตต์แพคการ์ด (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่างานแสดงสินค้าไอที เป็นการเปิดเวทีให้ผู้ผลิต หรือผู้ค้า ได้เจอกับลูกค้าโดยตรง เพื่ออัพเดตเทคโนโลยีใหม่ให้กับลูกค้าและร่วมนำเสนอสินค้าราคาพิเศษให้กับลูกค้า ทั้งนี้เชื่อว่ามองว่ากำลังซื้อในตลาดยังมีอยู่ เนื่องจากประเทศไทยมีการใช้งานคอมพิวเตอร์เพียง 11% เท่านั้น
ดังนั้นใน 100 คนนั้นยังมีผู้ไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้งานอีก 89 คน ดังนั้นยังมีตลาดอีกมากมายที่เรายังเข้าไปไม่ถึง ซึ่งกลยุทธ์ของบริษัทนั้นคือเข้าร่วมทรดโชว์ทุกๆงาน โดยปีหนึ่งมีงานใหญ่ 5 งาน งานแสดงสินค้าไอที ตามต่างจังหวัด อีก ไม่ต่ำกว่า 20 งาน ไม่รวมงานที่เราจัดเองหน้าร้าน
งานคอมเวริลด์ เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาหลายคนกังวลว่าคนจะมาเดินน้อย แต่พอเอาเข้าจริงๆ ยอดขายเราเพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นว่ากำลังซื้อในตลาดยังมีอยู่ ดังนั้นในงานคอมมาร์ตที่มีคนมาเดินเยอะกว่าเรามีการจัดพื้นที่เพิ่มขึ้นเป็น 600 ตารางเมตร ซึ่งถือว่าใหญ่สุดในงาน โดยเชื่อว่ายังมีความต้องการตลาดอยู่
อนึ่งในงานคอมมาร์ต 2007 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-25 มีนาคม 2550 มีผู้ผลิต ผู้ค้าไอที เข้าร่วม 300 ราย โดยผู้ผลิตรายใหญ่ ต่างจัดแคมเปญทั้งลดแลกแจกแถม มากมาย อาทิ เอชพี จัดแคมเปญสร้างสีสันในงานภายใต้ชื่อ 9 นำโชคก้าวกับเอชพี โดยจับฉลากผู้โชคดี ซื้อโน้ตบุ๊ก พร้อมพรินเตอร์เอชพี ในราคา 9,999 บาท หรือเครื่องพิมพ์เลเซอร์พรินเตอร์ในราคา 999 บาท ขณะที่เอเซอร์ จัดแคมเปญคืนเงิน โดยสามารถซื้อโน้ตบุ๊ก รุ่น แอสไปร์ 5582NWXMi ที่ใช้ตัวประมวลผลคอร์ทูดูอัล 1.66 กิ๊กะเฮิร์ตซ์ , แรม 512 กิโลไบต์, ฮาร์ดดิสก์ 120 กิ๊กะไบต์ในราคา 19,900 บาท จากราคาปกติ 29,900 บาท พร้อมแคมเปญผ่อนชำระ 0% นาน 10 เดือน และจัดแคมเปญคืนเงิน 4,000 บาทให้กับผู้ซื้อคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ เอเซอร์แอสไปร์ SA85/C7-MR2L โดยสามารถซื้อได้ในราคา 9,900 บาทจากปกติ 13,900 บาท